วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ฟักข้าว จากผักพื้นบ้านสู่ผลิตภัณฑ์ ภูมิปัญญาสู่วิชาการดีเด่น

ฟักข้าว  จากผักพื้นบ้านสู่ผลิตภัณฑ์ยา เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ภูมิปัญญาสู่วิชาการดีเด่น ผลงานเภสัช มช.     
      ผลฟักข้าว สีสดใส ที่ใครต่อใครพากันทึ่งถึงสีสันสวยงามนั้นแท้ที่จริงมีมูลค่าจากภูมิปัญญาถึงความเป็นอาหารที่นำเอายอดอ่อนและผลอ่อนมารับประทาน เป็นสมุนไพร ที่มีสรรพคุณมากมายและมีผลการวิจัยที่นำเนื้อเยื่อหุ้มเมล็ดจากผลสุกมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางลบริ้วรอย ด้วยผลงานวิจัยจากอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
     รศ.ดร.สุรพล นธการกิจกุล นำทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วย รศ.ดร.พาณี ศิริสะอาด, รศ.พิมพร ลีลาพรพิสิฐ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ เกียรติศักดิ์ พลสงคราม จากมหาวิทยาลัย พายัพเสนอผลงานวิชาการในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 29 - 31 สิงหาคม 2550 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี และได้รับรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น
    รศ.ดร.สุรพล ได้กล่าวถึงผลงานวิจัยว่า "ฟักข้าวเป็นพืชที่มีการนำมาใช้ด้วยภูมิปัญญา และคณะเภสัชศาสตร์ได้นำมาวิจัยต่อยอด ฟักข้าวนั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng วงศ์ Cucurbitaceae ส่วนชื่อพื้นบ้านมีการเรียกตามท้องถิ่น เช่น ผักข้าว ขี้กาเครือ พุคู้เด๊าะ เดิมมีถิ่นกำเนิดประเทศเอเชียเขตร้อน ในเมืองไทยมีมากในเขตภาคเหนือ ซึ่งหมอพื้นบ้านก็มีภูมิปัญญาในการใช้ฟักข้าวเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ เช่น รักษาฝี ไข้รากสาด ไข้อีดำอีแดง นอกจากนี้ฟักข้าวยังเป็นอาหาร พื้นบ้าน คือนำเอายอดอ่อนและผลอ่อนของฟักข้าวมาลวกกินกับน้ำพริกหรือนำมาแกงใส่ปลาแห้งเป็นอาหารพื้นบ้านที่อร่อยและมีประโยชน์"
     การวิจัยครั้งนี้ทีมวิจัยได้นำตัวอย่างฟักข้าวจากแหล่งต่างๆ มาตรวจเอกลักษณ์ทางพฤกษศาสตร์ เก็บตัวอย่างจัดทำมาตรฐานพืชแห้งและควบคุมคุณภาพ จากนั้นก็นำส่วนต่าง ๆของพืช คือ เถา, ใบ, เนื้อผล และเยื่อหุ้มเมล็ด มาสกัดด้วยตัวทำละลายต่าง ๆ เพื่อตรวจหาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ Total phenolic compound gallic acid equivalent, (GAE) และหาปริมาณสารไลโคปีนโดยวิธี HPLC จากนั้นก็นำเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวสุกมาสกัดน้ำมันรำข้าวโดยวิธี Maceration และพัฒนาตำรับเครื่องสำอาง
    ผลการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในส่วนต่าง ๆ ของฟักข้าวพบว่า ปริมาณสารไลโคปีนในกลุ่มเบต้าแคโรทีนของเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวสุกมีมากกว่าสารสกัดจากเนื้อผล ซึ่งสารไลโคปีน นี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บำรุงสายตาและป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถนำมาใช้เป็นยาและอาหารเสริมสุขภาพได้
     ดังนั้นทีมวิจัยจึงได้พัฒนาตำรับเครื่องสำอางชะลอความแก่โดยใช้ สารสกัดเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าว สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพการลดรอยเหี่ยวย่นในอาสาสมัครโดยใช้วิธีถ่ายภาพ และขยายภาพ (Image analysis)
    จากการทดสอบพบว่า ครีมตำรับมีประสิทธิภาพในการลดรอยเหี่ยวย่นดีกว่า เมื่อเทียบกับบริเวณที่ไม่ได้ทาครีมและบริเวณที่ทาครีมพื้นโดยไม่เกิดการแพ้และการระคายเคืองในอาสา สมัคร โดยเฉพาะครีมต้นตำรับสามารถลดความลึกของร่องริ้วรอยชัดเจนในกลุ่มอาสาสมัคร
      รศ.ดร.สุรพลกล่าวย้ำว่า "ผลการวิจัยนี้สามารถพัฒนาฟักข้าวสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยา เสริมอาหาร เครื่องสำอางได้
      อย่างไรก็ตามการวิจัยเรื่องฟักข้าว มีประเด็นใหญ่ๆคือ เป็นการพัฒนาจากภูมิปัญญาที่เราให้ความสำคัญกับข้อมูลพื้นบ้านจากหมอพื้นบ้านมาก ในขณะที่เมื่อการผลิตเพื่อแปรรูปก็ต้องมีการควบคุม วัตถุดิบตั้งแต่การปลูกที่ดี การตรวจสอบสายพันธ์ ต้องมีกระบวนการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ สำหรับการขั้นตอนในการแปรรูป จะต้องตรวจสอบเรื่องความ คงตัว ตรวจสอบมาตรฐานสารสำคัญในฟักข้าว ศึกษาข้อควรระวัง และต้องมีการประเมินประสิทธิผล ควบคุมคุณภาพมาตรฐาน จึงจะสามารถผลิตเป็น ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานได้ "
     "ในขณะนี้มีหลายประเทศที่มีการนำฟักข้าว มาพัฒนาสู่อุตสาหกรรมการผลิตเป็นผลิตภัณฑฺ์เสริมสุขภาพหรือเครื่องสำอางซึ่งมีราคาแพง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่นักวิจัยไทยจะได้ร่วม กับอุตสาหกรรมในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม มีการประเมินประสิทธิผลและควบคุมคุณภาพ" รศ.ดร.สุรพลกล่าว
    "ผมเห็นว่า ฟักข้าว มีมูลค่าด้านอาหารและสมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่งควรมีการส่งเสริมให้มีการปลูกเนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีปริมาณลดน้อยลง และหากมีการส่งเสริมการผลิตในภาค อุตสาหกรรม ก็ควรมีการวางทิศทางร่วมกัน "
     ฟักข้าว พืชมูลค่าแห่งภูมิปัญญาแม้มีการวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม ก็ยังต้องคงความเป็นพื้นบ้านที่ต้องการดูแลเอาใจใส่ในมูลค่า ทั้งจากชุมชนและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการวิจัยจากส่วนต่างๆ และเมื่อต้องแปรรูปก็ต้องมีการจัดการเรื่องคุณภาพ มาตรฐานอย่างชัดเจน


       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น